สวัสดีครับท่านที่เข้ามาอ่าน-มาชม วันนี้จะพาไปรู้จักส่วนประกอบของเครื่องดนตรียอดฮิต ที่หลายๆคนอาจจะรู้จักแล้ว เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงไพเราะ ไปดูกันเลยย
กีตาร์โปร่ง
กีตาร์
เชื่อว่าทุกคนคงคุ้นเคยกับกีตาร์โปร่งอยู่บ้างไม่มากก็น้อย บางคนเล่นเป็น แต่บางคนถึงเล่นไม่เป็นก็รู้ว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้เรียกว่าอะไร เหตุผลอย่างหนึ่งคงเพราะเครื่องดนตรีชนิดนี้อยู่คู่โลกใบนี้มานานเป็นร้อย ๆ ปี และอยู่ใกล้ตัวเรามานานทั้งในชีวิตประจำวันของใครหลายๆคน หรือแม้แต่ในบทเพลงมากมายที่พวกเราต่างรู้จักกันดี
แต่พวกเรารู้จักมันดีแค่ไหน เรารู้อะไรเกี่ยวกับมันบ้าง เพราะกีตาร์โปร่งมีมากมายเป็นร้อยเป็นพันรุ่นในตลาด เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันมีลักษณะเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันยังไง และเราเหมาะกับกีตาร์โปร่งแบบไหน?
วันนี้เราลองมาทำความรู้จักกับกีตาร์โปร่งให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะได้ตัดสินใจเลือกกีตาร์โปร่งที่เหมาะกับเราได้ง่ายขึ้นด้วย
ทำไมดีดกีตาร์โปร่งแล้วมีเสียง?
เคยสงสัยกันบ้างมั้ย ว่าทำไมกีตาร์โปร่งจึงดีดแล้วมีเสียง ในขณะที่เราทำแบบเดียวกันกับกีตาร์ไฟฟ้าแล้วแทบไม่ได้ยินอะไรมากไปกว่าเสียงลวดแหลมๆ ไม่มีความไพเราะอะไรเลย คำตอบคือ เมื่อเราดีด (หรือเกา) กีตาร์โปร่ง แรงสั่นสะเทือนของสายจะถูกส่งไปยังแผ่นไม้หน้า (top) ทำให้ไม้หน้ามีการสั่นสะเทือน แรงสั่นสะเทือนของไม้หน้านี้ก็จะไป “เขย่า” อากาศที่อยู่รอบ ๆตัวมันโดยเฉพาะด้านหน้าให้กลายเป็นเสียงกีตาร์ที่พวกเรารู้จัก
ส่วนประกอบของกีตาร์โปร่ง
ส่วนประกอบหลัก ๆ ที่เราควรรู้จักคร่าวๆ เพื่อให้ง่ายต่อการดูสเปคก็ได้แก่
- ไม้หน้า (top/soundboard) แผ่นไม้ด้านหน้าสุด (ถ้าวางกีตาร์ในแนวนอน ไม้ส่วนนี้ก็จะอยู่ด้านบนสุด จึงเรียกว่า top wood) ไม้ส่วนนี้คือส่วนสำคัญที่สุดในการส่งเสียงของกีตาร์โปร่ง เปรียบเสมือน “ดอกลำโพง” ของกีตาร์โปร่งนั่นเอง บางครั้งเราก็เรียกไม้ท็อปนี้ว่า soundboard ซึ่งก็เนื่องมาจากหน้าที่ในการส่งเสียงของมันนั่นเอง ทั้งนี้ ไม้แต่ละชนิดที่นำมาใช้ทำทั้งสองส่วนล้วนมีผลต่อเสียง เนื่องจากไม้แต่ละชนิดมีคุณสมบัติตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสะท้อนเสียงก็ย่อมแตกต่างกันตามไปด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่ควรทราบอย่างยิ่งเกี่ยวกับไม้ท็อปซึ่งหลายคนมักมองข้ามหรือไม่ทราบ คือ การวางโครง bracing ใต้แผ่นท็อปซึ่งมีผลโดยตรงต่อเสียง ทั้งนี้จะขอกล่าวถึงในหัวข้อ Bracing่
- ไม้หลัง (back) และไม้ข้าง (sides) ไม้หลังคือไม้ชิ้นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ top ส่วนไม้ข้างก็คือส่วนด้านข้างของกีตาร์โปร่งที่ถูกดัดให้เป็นส่วนโค้งของกีตาร์ ไม้ทั้งสองส่วนนี้ถูกจับมาประกบเข้าคู่กันให้เป็นเสมือน “กล่องเปล่า” ที่ทำหน้าที่สะท้อนเสียงก้องกังวาน (resonance) ออกมาด้านหน้าของกีตาร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้กีตาร์โปร่งแตกต่างจากกีตาร์ไฟฟ้า และเช่นเดียวกับไม้ท็อป คือไม้แต่ละชนิดที่นำมาทำทั้งสองส่วนนี้ของกีตาร์โปร่งจะให้คาแรคเตอร์เสียงที่แตกต่างกัน
- คอ (neck) คือไม้ชิ้นยาวที่ยื่นจากส่วนลำตัวของกีตาร์ไปถึงส่วนหัว (headstock) แม้ไม้ส่วนนี้จะไม่ใช่ส่วนที่ใช้สะท้อนเสียงหรือส่งเสียงโดยตรง แต่ชนิดไม้ที่ใช้ทำคอกีตาร์โปร่งก็มีผลต่อเสียงโดยรวมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้สิ่งสำคัญเกี่ยวกับคอกีตาร์ ก็คือ รูปทรงของคอกีตาร์ (neck profile) เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกสบายหรือไม่ก็อึดอัดไปเลย
- เฟรท (frets) และฟิงเกอร์บอร์ด (fingerboard/fretboard) เฟรท ก็คือโลหะชิ้นเล็กๆ ขนาดใกล้เคียงกับก้านไม้ขีดไฟ โดยส่วนใหญ่จะมีจำนวน 20 อัน ถูกยึดติดไว้บนแผ่นไม้สี่เหลี่ยมสีดำยาวๆ ที่เรียกว่าฟิงเกอร์บอร์ด หน้าที่ของเฟรทก็มีไว้เพื่อแบ่งโน้ตให้แยกของใครของมัน ซึ่งวัสดุ รูปทรง ขนาด ความโค้ง การเก็บความเรียบร้อยตรงปลายเฟรทก็นับว่ามีผลต่อการเล่นและเนื้อเสียง ในส่วนของไม้ฟิงเกอร์บอร์ดนั้น ชนิดไม้ที่ใช้และความโค้งของฟิงเกอร์บอร์ด (fingerboard radius) ก็มีผลต่อเสียงและการเล่นด้วยเช่นกัน
- นัท (nut) คือชิ้นส่วนสี่เหลี่ยมอันเล็กๆ บางๆ ที่วางไว้ตรงปลายสุดของฟิงเกอร์บอร์ดฝั่งหัวกีตาร์ มีหน้าที่รองรับมุมเลี้ยวและแรงกดของสายกีตาร์ที่พาดผ่านจากฟิงเกอร์บอร์ดไปที่หัวกีตาร์ นัทกีตาร์มีหลายวัสดุให้เลือกทั้งวัสดุธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ซึ่งก็เช่นกันกับแทบจะทุกส่วนของกีตาร์ คือ วัสดุที่นำมาใช้ทำนัทจะมีผลต่อเสียงด้วย ปัจจุบันวัสดุที่นิยมใช้ผลิตนัทมากที่สุดเห็นจะเป็นวัสดุสังเคราะห์จำพวกกราไฟท์กับวัสดุเทียมกระดูก
- ลูกบิด (machine heads/tuners) ก็คืออะไหล่โลหะ 6 อันที่ติดตั้งอยู่บนหัวกีตาร์ หน้าที่ก็เพื่อไว้ยึดสายกีตาร์นั่นเอง
- แซดเดิล (saddles) และ หย่อง (bridge) แซดเดิลคือชิ้นส่วนอันเล็กๆ ที่วางไว้บนไม้หย่อง มันทำหน้าที่คล้ายๆ นัทและมีตัวเลือกวัสดุเหมือนๆ กัน เพียงแต่แซดเดิลถูกวางไว้คนละฝั่งของสายกีตาร์โดยติดตั้งอยู่บนแผ่นไม้ที่เรียกว่าหย่องหรือ bridge ที่ทำหน้าที่เหมือนตอม่อหรือสมอบกที่รั้งสายกีตาร์เอาไว้
- ปิ๊คการ์ด (pick guard) แผ่นวัสดุบางๆ วางอยู่ถัดจากโพรงเสียงฝั่งสาย 1 จุดประสงค์แรกเริ่มเดิมทีของปิ๊คการ์ดก็เพื่อไว้ป้องกันไม่ให้ไม้ท็อปมีรอยข่วนของปิ๊คที่เกิดจากการตีคอร์ด แต่ปัจจุบันผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็มีการปรับรูปทรงปิ๊คการ์ดของตัวเองให้มีความสวยงามดูกลมกลืนกับดีไซน์กีตาร์ของตัวเอง กลายเป็นจุดขายของกีตาร์โปร่งแต่ละแบรนด์ เช่น Gibson หลายๆรุ่น เป็นต้น
- ระบบไฟฟ้าหรือปิคอัพ (acoustic pickups) กีตาร์โปร่งบางตัวจะมีการติดตั้งระบบไฟฟ้าเพื่อแปลงเสียงของกีตาร์โปร่งและส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปที่แอมป์เพื่อใช้เล่นออกงาน บางครั้งเราก็เรียกกีตาร์โปร่งที่ติดปิคอัพว่า “กีตาร์โปร่งไฟฟ้า” ปิคอัพที่ใช้กับกีตาร์โปร่งนั้นมีหลายรูปแบบ หลายเกรด หลายยี่ห้อ หลายราคา ซึ่งผู้เขียนจะลงรายละเอียดในหัวข้ออื่นๆ ต่อไป
- งานประดับ อันนี้ไม่เกี่ยวกับเสียง แต่มักมีผลทางใจอย่างมาก งานประดับของทุกส่วนของกีตาร์โปร่งสามารถถูกประดับอัพความสวยได้หมด ไล่ตั้งแต่ฟิงเกอร์บอร์ดที่มีการฝังอินเลย์ลวดลายสวยล้ำงามตามากกว่าแค่จุดกลมๆ เช่น ขอบบอดี้ที่มีการเดินเส้น binding เส้น purfing สวยๆสารพัดวัสดุบนไม้หลัง ลวดลายกราฟิคตรงขอบโพรงเสียง (rosette) ที่มีการประดับประดาด้วยอินเลย์จากเปลือกหอยอบาโลน ปิ๊ดการ์ดลวดลายเก๋ๆ ของกีตาร์ Gibson the Dove เป็นต้น และแน่นอนว่ายิ่งของประดับเยอะเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งสูงตามไปเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรกีตาร์สวยๆ มันก็น่ามอง น่าภาคภูมิใจในการครอบครองมากกว่ากีตาร์เรียบๆ จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่มีลูกค้ามากมายยินดีจ่ายเพิ่มเพื่องานประดับ ก็เหมือนๆ สินค้าทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่ผู้ซื้อจะมองหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองนั่นแหละ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น