วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กลองมโหระทึก

สวัสดีครับทุกท่าน..วันนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกลองมโหระทึก..หลายคนอาจเคยเห็นแต่ไม่รู้จัก..วันนี้จะพาไปรู้ถึงความเป็นมาของกลองมโหระทึก..ไปดูกันได้เลยครับ!!

กลองมโหระทึก

เกี่ยวกับกลองมะหระทึก

มโหระทึก เป็นกลองชนิดหนึ่งทำด้วยโลหะ เป็นกลองหน้าเดียว รูปทรงกระบอก ตรงกลางคอดเล็กน้อย มีขนาดต่างๆ ส่วนฐานกลวง มีหูหล่อติดข้างตัวกลอง 2 คู่ สำหรับร้อยเชือกหามหรือแขวนกับหลัก ที่หน้ากลองเป็นแผ่นเรียบ มักมีรูปกบหรือเขียดอยู่ที่ด้านบนหน้ากลอง กลองมโหระทึกนี้มักจะเรียกแตกต่างกันออกไปตามรูปแบบและความเชื่อของคนในท้องถิ่นนั้นๆ อาทิ ภาคเหนือของประเทศไทย และในประเทศพม่าเรียกว่า ฆ้องกบหรือฆ้องเขียด เพราะมีรูปกบหรือเขียดปรากฏอยู่บนหน้ากลอง จีนเรียกว่า ตุงกู่(Tung Ku) อังกฤษเรียกว่า Kettle drum หรือ Bronze drum เพราะว่ากลองนี้มีรูปร่างคล้ายกับโลหะสำริดที่ใช้ในการต้มน้ำ ส่วนไทยเรานั้นเรียกว่า หรทึก หรือ มโหระทึก ซึ่งชื่อเรียกนั้นจะแตกต่างกันไปแต่ละยุคสมัย กลองมโหระทึกใช้เนื่องในพิธีกรรมความเชื่อ เป็นวัฒนธรรมร่วมที่พบในพื้นที่ต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ พม่า ไทย เวียดนาม ลาว มาเลเชีย อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ
กลองมโหระทึก


   กลองมโหระทึกมีประติมากรรมรูปกบ


ประติมากรรมรูปกบด้านบนของกลองมโหระทึก
ประวัติความเป็นมาของกลองมโหระทึก

กลองมโหระทึกเป็นตัวแทนของอารยธรรมเริ่มแรกของภูมิภาคและเป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นอย่างหนึ่งในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นวัฒนธรรมความเชื่อของกลุ่มชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องถึงสมัยต้นประวัติศาสตร์ การพบกลองมโหระทึกเป็นหลักฐานที่ชี้ให้ถึงภูมิปัญญาและความรู้ความสามารถทางด้านศิลปกรรมและเทคโนโลยีของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่น้อยกว่า 3,000 ปี มาแล้ว ก่อนที่จะรับอารยธรรมจากอินเดียและจีน นอกจากนั้นยังบ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของอำนาจของมนุษย์ที่สามารถผลิตเครื่องมือสำริดที่ใช้โลหะสำคัญในการผลิตเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญยังมีลวดลายที่บ่งบอกถึง “ความอุดมสมบูรณ์” เช่น ลายปลา ลายคลื่นน้ำ หรือมีรูปประติมากรรมรูปกบประดับตามมุม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของน้ำหรือฝนนั่นเอง

ในด้านประวัติความเป็นมาของกลองมโหระทึกนั้น  ยังไม่อาจกำหนดลงไปได้อย่างชัดเจน  แต่เป็นที่ทราบกันว่ากลองมโหระทึกนี้เป็นศิลปโบราณวัตถุที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อที่นิยมใช้กันในยุคโลหะ  ซึ่งมีอายุประมาณ  2,000-3,000  ปีมาแล้ว  และในบางท้องที่บริเวณภาคใต้ของจีนและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ก็ยังมีการใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นักโบราณคดีให้ความสนใจเกี่ยวกับกลองมโหระทึก ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 -23 ประมาณ 300 ปีมาแล้ว มีงานเขียนของชาวตะวันตก G.E.RUMPHIUS และ E.C.BACSOLIT กล่าวถึงโบราณวัตถุสำริดนี้ในวัฒนธรรมดองซอน (DONG SON) ที่พบในอินโดนีเซีย กระทั่งล่วงมาถึงปี พ.ศ.2445 ชาวออสเตรเลีย FRANZ HEGER เสนอแนวความคิดว่า กลองมโหระทึกมีกำเนิดตอนเหนือของเวียดนาม   แนวความคิดนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก BEZACIER ว่า กลองมโหระทึกมีการผลิตครั้งแรกในวัฒนธรรมดองซอน สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงกึ่งประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 2-3
ในเวียดนามมีการขุดค้นพบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2467 ประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา  ทางชุมชนโบราณตอนเหนือและภาคกลาง และเมื่อ 40 ปีได้พบแหล่งโบราณคดีที่มีวัฒนธรรมการใช้กลองมโหระทึกกว่า 50 แหล่ง ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในบริเวณแอ่งแม่น้ำหง(Hong) และแม่น้ำมา(Ma) ไปจนถึงตอนเหนือของเวียดนามในเขตจังหวัดดองซอน  และต่อเนื่องไปถึงแม่น้ำโซ (Tso) และแม่น้ำหยู (Yu)บริเวณตอนใต้ของจีน กลองมโหระทึกที่พบในเวียดนาม  กำหนดอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 400 ปีก่อนพุทธกาล-พุทธศตวรรษที่7
การพบกลองมโหระทึกแพร่กระจายในประเทศต่างๆของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ทำให้เกิดคำถามในทางวิชาการว่า  กลองมโหระทึกเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชนใดในภูมิภาคนี้  ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี นักโบราณคดีไทย ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับกลุ่มชนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมกลองมโหระทึก  อาจมีหลายกลุ่ม  ประกอบด้วย

1. กลุ่มชนในวัฒนธรรมดองซอนอาจเป็นพวกเย่ห์(Yueh) หรือพวกเวียต(Viet)

2. กลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยในบริเวณภาคใต้ของไทย ก่อนจะเกิดกลุ่มวัฒนธรรมศรีวิชัย

3. กลุ่มชนมวง (Muongs) ในเวียดนาม

4. กลุ่มชนไทยใหญ่ และกลุ่มชนอินธะ(Inthas) ในสหภาพพม่า

5. กลุ่มชนกะเหรี่ยงบางกลุ่มในไทย และสหภาพพม่า

6. กลุ่มชนจ้วง (Zhuang) ในเขตตอนใต้ของจีน

7. กลุ่มชนจีนฮั่น (Han) ในแผ่นดินใหญ่

สิ่งที่น่าสังเกต คือ กลุ่มชนที่สันนิษฐานว่าอาจเป็นเจ้าของวัฒนธรรมกลองมโหระทึกทั้ง 7 กลุ่มที่กล่าวมา  ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มชนเชื้อสานไท  ซึ่ง B.J.TERWIEL นักภาษาศาสตร์เชื่อว่า เป็นกลุ่มชนเชื้อสายเก่าแก่ของภูมิภาคนี้และมีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมด้านภาษาพิธีกรรมและแนวทางการดำรงชีพในแบบของกลุ่มชนเชื้อสายไทตั้งแต่ตอนใต้ของจีนจากดินแดนที่เป็นพื้นแผ่นดินใหญ่  จนถึงบริเวณหมู่เกาะในเวียดนาม
   ภาพเขียนสีพิธีบูชาบรรพบุรุษขอความอุดมสมบูรณ์ บน “ผาลาย” ในมณกวางสี ประเทศจีน


ลายเส้นคนบนหน้ากลองมโหระทึก พบที่เวียดนาม

วัตถุประสงค์ในการผลิตกลองมโหระทึก
1.ใช้เป็นเครื่องแสดงฐานะความมั่งคั่ง 
พวกเลี่ยว (Liao) ในประเทศจีนเชื่อว่า  การมีกลองมโหระทึกใบใหญ่  จะได้รับการยกย่องนับถือเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน  หรือผู้นำหมู่บ้าน (Tu-lao)และจะเป็นผู้ที่เพื่อนบ้านให้ความเคารพนับถือ  พวกข่าละเม็ด  เป็นกลุ่มชนในแขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว  เชื่อว่าถ้าผู้ใดมีกลองมโหระทึก       2 ใบ กระบือ 2 ตัว จะได้รับการยกย่องเป็น  เล็ม(ตำแหน่งขุนนางที่ไม่มีการสืบสกุล)  พวกเย่ห์ (Yueh) ต้นตระกูลกลุ่มชนเสื้อสายญวน เชื่อว่า กลองมโหระทึกเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของหัวหน้า
 2. ใช้เป็นวัตถุสำคัญในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย
พวกข่าละเม็ด มีพิธีเกี่ยวกับการฝังศพเมื่อผู้เป็นเจ้าของกลองมโหระทึกตายและไม่มีทายาท  ญาติจะต้องช่วยกันทุบกลองมโหระทึกของผู้ตาย  จากนั้นก็เก็บเศษชิ้นส่วนกลองใส่ลงในหลุมฝังศพของผู้ตาย  ชนพื้นเมืองในเวียดนามมีความเชื่อเกี่ยวกับกลองมโหระทึกว่า  เมื่อหัวหน้าครอบครัวตายลงทายาทหรือญาติจะนำกลองมโหระทึกมาแขวนเหนือศพ  เมื่อนำอาหารไปเซ่นให้แก่ผู้ตายจะต้องตีกลองใบนั้นทุกครั้ง  กะเหรี่ยงในพม่าและทางภาคตะวันตกของไทย  นิยมตีกลองมโหระทึกในงานศพเพื่อเรียกวิญญาณของผู้ตาย  ซึ่งเชื่อว่าหลังความตายวิญญาณจะแปลงร่างเป็นนก  นอกจากนี้ยังใช้กลองมโหระทึกเป็นแท่นวางเครื่องสังเวย  ประกอบด้วยเขาสัตว์และข้าว
3. ใช้ตีเป็นสัญญาณในการสงคราม
แม่ทัพชาวจีนใช้กลองมโหระทึกในการทำสงครามโดยตีกลอง บริเวณน้ำตก  เสียงกลองนั้นจะสะท้อนเสียงดัง ทำให้ข้าศึกเข้าใจว่ามีกองทหารจำนวนมาก  อันเป็นการข่มขวัญข้าศึกและเป็นการสร้างความหึกเหิมแก่ทหารด้วย   ส่วนแม่ทัพเลี่ยวตีกลองมโหระทึกเพื่อรวบรวมไพร่พลออกศึก  มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบบนเกาะสุมาตรา   ประเทศอินโดนีเซีย พบประติมากรรมรูปนักรบมีกลองมโหระทึกแขวนอยู่ทางด้านหลัง  บางครั้งยังมีการตีกลองมโหระทึกเพื่อแสดงถึงชัยชนะอีกด้วย
4. ใช้ตีในพิธีกรรมขอฝน
เมื่อพิจารณาจากรูปสัตว์ซึ่งประกอบที่ส่วนหน้ากลองและด้านข้างกลองมโหระทึก  เช่น  กบ  หอยทาก  ช้าง  และจักจั่น พบว่า  ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับฝนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  รูปกบที่ปรากฏบนหน้ากลองมโหระทึก  กลุ่มชนชาวจีนตอนใต้เชื่อว่า  สัตว์ประเภทนี้สามารถบอกเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะมีฝนตกหรือไม่  เนื่องจากธรรมชาติของกบและคางคกที่เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ  เมื่อฝนตกกบจะออกจากโพรงดิน  ดังนั้นในพิธีขอฝนจึงมีกบและคางคกเข้ามาเกี่ยวข้อง  ความเชื่อดังกล่าวปรากฏในกลุ่มชนขมุที่จะตีกลองมโหระทึก  หากเกิดสภาวะฝนแล้งและการอดยาก
5. ใช้ตีเพื่อเพื่อการบำบัดโรคและขับไล่ภูตผี
กลุ่มชนเย่ห์ (Yueh)มีความเชื่อเกี่ยวกับการตีกลองมโหระทึกว่า  เป็นการชุมนุมเทวดา  เพื่อการบำบัดรักษาโรคภัย  และขับไล่สิ่งชั่วร้าย  พวกข่าละเม็ดในประเทศลาวตีกลองมโหระทึกเมื่อเก็บเกี่ยวและนวดข้าวเสร็จเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ  เชื่อว่าเสียงกลองจะนำความยินดีแก่ผีบรรพบุรุษและไปสถิตที่ยุ้งข้าวจะช่วยคุ้มครองรักษาข้าวไม่ให้ถูกขโมยและไม่มีสัตว์ต่างๆมาแทะกินข้าวที่เก็บไว้
6. ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ
ในประเทศพม่าตีกลองมโหระทึกในงานพิธีกลุ่มของชนพื้นเมือง  ส่วนในประเทศไทยนั้นเคยใช้ตีในงานมงคลตามวัดและใช้ตีในงานราชพิธีด้วย นอกจากนั้นยังใช้เป็นเครื่องดนตรีประกอบพิธีการแต่งงาน  ใช้ตีในพิธีการออกล่าสัตว์หรือจับสัตว์น้ำ  หรือเพื่อให้ผลผลิตทางด้านเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์
 ภาพลายเส้นจาก “ผาลาย”วงกลมมีแฉกตรงกลางคือมโหระทึก


ชาวจ้วงประโคมตีมโหระทึกในพิธีบูชากบขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์
เทคโนโลยีผลิตกลองมโหระทึก
วิธีการผลิตกลองมโหระทึกนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ  ทั้งนี้เนื่องจากการขุดค้นทางโบราณคดีหลายแห่งนั้น  ยังไม่พบหลักฐานที่เป็นชิ้นส่วนของเบ้าหลอมกลองแต่อย่างใด  ได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรรมวิธีการหล่อกลองมโหระทึกไว้ว่า  กลองมโหระทึกที่ผลิตขึ้นในสมัยแรกนั้น  ขั้นตอนการหล่ออาจใช้กรรมวิธีคล้ายการหล่อระฆังด้วยพิมพ์ชิ้น  จากนั้นนำมาเชื่อมต่อ  และตกแต่งรูปทรงกลองมโหระทึกที่สมบูรณ์  ส่วนกลองมโหระทึกที่ผลิตขึ้นในสมัยหลัง  อาจใช้กรรมวิธีการหล่อด้วยการแทนที่โลหะด้วยขี้ผึ้ง (Lost Wax or Cire Perdue)  ทำให้ลักษณะรูปทรงและลวดลายบนกลองมโหระทึกในรุ่นหลังมีความประณีต  VU NGOC THU นักวิชาการชาวเวียดนาม เสนอว่า กลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดองซอนของเวียดนามผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีการหล่อชนิดแทนที่โลหะด้วยขี้ผึ้ง (Lost Wax or Cire Perdue)  โดยใช้ไม้ไผ่สานและดินเหนียวยาทำเป็นโครงเพื่อขึ้นรูปกลอง  ซึ่งแบ่งเป็นช่วงบนของกลอง และฐานกลอง
ในประเทศไทยจากการสำรวจพบกลองมโหระทึกในจังหวัดตราดและกลองมโหระทึกจากแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว  จังหวัดชุมพร ฯลฯ  มีร่องรอยของเครื่องจักสาน  และแกลบข้าวติตอยู่บนผิวหน้ากลอง  ซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานของนักวิชาการชาวเวียดนามในเรื่องกรรมวิธีการผลิตกลองมโหระทึก  โดยขั้นตอนการหล่อกลองมโหระทึกด้วยกรรมวิธีแทนที่โลหะด้วยขี้ผึ้ง  มีลำดับขั้นตอนโดยสังเขปดังนี้
1. ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นโครงรูปกลอง  นำดินเหนียวผสมกับแกลบแล้วพอกเป็นรูปร่าง  จากนั้นใช้ดินเหนียวผสมมูลวัวพอกเข้าอีกชั้นหนึ่ง  ทิ้งไว้พอหมาดๆจึงใช้ไม้แบนตีให้เรียบเสมอกัน  และจะต้องไม่ให้มีเศษขยะใดๆติดอยู่
2. ใช้ขี้ผึ้งพอกเป็นรูปกลองให้เสมอกัน  แล้วใช้ไม้ซึ่งแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ตามต้องการ ตีประทับบนขี้ผึ้งที่พอกไว้
3. ใช้ดินเหนียวเหลวที่ได้รับการเตรียมเป็นอย่างดี โดยการนำดินเหนียวที่แห้งสนิทดีแล้วมาตำให้ละเอียดแล้วใช้ผ้ากรองแล้วนำไปผสมน้ำ จึงพอกบนขี้ผึ้ง 3 ชั้น แล้วนำดินเหนียวแห้งหมาดๆ ผสมกับมูลวัว  แล้วพอกเป็นรูปกลองให้หนาตามต้องการ
4.เมื่อแห้งดีแล้วให้ทำรูที่ตีนกลองเพื่อให้ขี้ผึ้งที่ละลายไหลออกได้  จากนั้นเอากลองไปอังหรือสุมไฟให้ร้อนพอที่จะให้ขี้ผึ้งละลาย  เมื่อขี้ผึ้งละลายออกหมดแล้ว  ให้เอาเบ้ากลองที่เป็นดินและโครงไม้อยู่นั้นไปเผาไฟให้สุกจนทั่ว
5.ในขณะที่ยังร้อนอยู่นั้น  เทสำริดลงในเบ้ากลองทิ้งไว้จนกระทั่งเย็น  จึงค่อยกะเทาะดินที่เป็นเบ้าออก
6.จากนั้นตกแต่งผิวและลวดลายต่างๆ และเชื่อมต่อส่วนรายละเอียด เช่น ประติมากรรมลอยตัวขนาดเล็กบนหน้ากลอง  ด้านข้างกลอง ฯลฯ ตามตำแหน่งที่ต้องการ
กลองมโหระทึกในประเทศไทย
ประเทศไทยมีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ามีการผลิตและใช้กลองมโหระทึกมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคโลหะประมาณ 2,500- 2,100  ปีมาแล้ว  ในสมัยประวัติศาสตร์กลองมโหระทึกในประเทศไทยยังเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน  โดยมีหลักฐานแสดงถึงการใช้กลองมโหระทึก  เช่น  ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงสมัยสุโขทัย  กล่าวว่ามีการใช้กลองมโหระทึกกันแล้ว  แต่จะเรียกว่า  “มหรทึก”  ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการกล่าวถึงชื่อกลองมโหระทึกในกฎมนเฑียรบาล   ซึ่งประกาศใช้ในแผ่นดินสมันนั้น   แต่เปลี่ยนเป็นชื่อเรียกว่า  “หรทึก”  และใช้ตีในงานราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร  ขุนนางที่ทำหน้าที่ตีมโหระทึกมีตำแหน่งเป็น “ขุนดนตรี”    จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ เรียกชื่อกลองดังกล่าวว่า  “มโหระทึก”  และเรียกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ทั้งยังมีการใช้กลองมโหระทึกในงานพระราชพิธีต่างๆ  เช่น  พระราชพิธีฉัตรมงคล  หรืองานรัฐพิธีต่างๆ อีกด้วย
กลองมโหระทึกในประเทศไทย จากการสำรวจเบื้องต้นที่ผ่านมา (พ.ศ.2541-2545)  ที่พบแล้วนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามส่วนภูมิภาคต่างๆ ดังนี้
  • ภาคกลางสำรวจพบ 6 รายการ ในจังหวัดตราด ราชบุรี และกาญจนบุรี
  • ภาคเหนือสำรวจพบ 8 รายการ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย และน่าน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบ 7 รายการ ในจังหวัดกาฬสินธุ์ มุกดาหาร นครพนม อุบลราชธานีและเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว 1 รายการ
  • ภาคใต้ 11รายการ  ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราชและสงขลา
นอกจากนี้ยังพบกลองมโหระทึกไม่ทราบแหล่งที่มาอีกจำนวนหนึ่ง
โดยรายละเอียดของกลองที่พบมีรูปลายดาวหรือดวงอาทิตย์ 10 – 16 แฉกแล้วแต่ขนาดกลอง มีลายปลาว่ายทวนน้ำ  บุคคลสวมเครื่องประดับขนนก  เรือ  นกกระสาบินทวนเข็มนาฬิกา  นกยูง ลายเลขาคณิตและลายอื่นๆ อีกมากมาย  บนริมหน้ากลองบางใบมีประติมากรรมรูปกบ บางใบซ้อนกัน 2 – 6 ตัว ประจำทั้ง 4 ทิศ  ส่วนด้านข้างกลองบางใบมี ช้าง หอยทาก จักจั่น  ซึ่งมีขนาดเล็กมากเดินตามกันเป็นแถวด้านใดด้านหนึ่ง
นักโบราณคดีได้ให้ข้อสรุป กลองมโหระทึกเป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นอย่างหนึ่งในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นวัฒนธรรมความเชื่อของกลุ่มชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องถึงสมัยต้นประวัติศาสตร์ การพบกลองมโหระทึกในประเทศไทยเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นการรับรูปแบบวัฒนธรรมมา แม้จะยังชี้ชัดไม่ได้ว่านำมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด ทั้งในแง่พิธีกรรมต่างๆ  แต่จากการศึกษาลักษณะของแหล่งที่พบกลองมโหระทึกในประเทศไทย จะอยู่ในบริเวณเนินดินใกล้แหล่งน้ำ  แสดงถึงการเลือกสถานที่ความอุดมสมบรูณ์ และพบบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลอาจเป็นนัยยะแสดงถึงความสัมพันธ์ในทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนในวัฒนธรรมร่วมที่มีการใช้กลองนี้ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง  และแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ในเขตนั้นๆ เป็นชุมชนที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มและมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในเรื่องการผลิตทางด้านโลหะกรรม  และมีการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับกลุ่มชนอื่นๆ ภายนอก  จนกระทั่งมีการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมและการเผยแพร่ความเชื่อต่อกัน
ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีการประโคมตีกลองมโหระทึกในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง ซึ่งนับได้ว่าเป็นพิธีการที่เกี่ยวข้องกับการทำนายฟ้าฝนในและเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของข้าวในแต่ละปี  สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ภาพลายเส้นด้านหน้า

                                          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กิ๋ง

สวัสดีครับเพื่อนๆทุกคน ก่อนจากกันวันนี้ ผมมีเครื่องดนตรีสากลประเภทเครื่องกระทบ ที่มีรูปทรงสามเหลี่ยมมาแนะนำให้เพื่อนๆรู้จักกันนะครับ นั้นก็...