วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

จะเข้

สวัสดีครับวันนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักเครื่องดนไทยกันนะครับ..คือจะเข้..ไปดูประวัติความเป็นมากันเลยครับ!!

ประวัติของจะเข้


ประวัติและความเป็นมาของจะเข้

ประวัติและความเป็นมาของจะเข้นั้น ได้มีผู้รู้ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของจะเข้ไว้หลากหลาย  สามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้

          สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่ม ๓ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของจะเข้ ไว้ในหมวด จะเข้: เครื่องดนตรี ไว้ดังนี้ (มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์, ๒๕๔๒ หน้า ๑๓๗๙)

          “จะเข้นี้  สันนิษฐานกันว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ไทยเราได้แบบมาจากมอญ ก็น่าจะเป็นจริง  เพราะเคยได้เห็นจระเข้ของมอญ  ซึ่งทำรูปตอนด้านกระพุ้งเสียงเป็นหัวจระเข้  ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์เมืองย่างกุ่ง  สหภาพพม่า บอกว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่มาก  ถ้าของเดิมมีรูปเป็นเช่นนี้คงเรียกว่าจระเข้มาก่อนเช่นเดียวกับพิณอินเดีย  ซึ่งมีรูปเป็นนกยูง  และเรียกว่า  “มยุรี” ภายหลังคงเกรงว่าจะเรียกชื่อไขว้เขว จึงทำให้บัญญัติชื่อเสียใหม่ว่า “จะเข้” จะได้ไม่ซ้ำกับ “จระเข้” สัตว์มีชีวิต”

         อุดม อุดมรัตน์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของจะเข้ ในหนังสือเรื่อง ดุริยางคดนตรีจากพระพุทธศาสนา โดยมีใจความสรุปได้ว่า  จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีที่เปล่งเสียงโดยใช้ไม้ดีด เรียกว่า โคธะ ซึ่งตามรูปศัพท์หมายถึงเหี้ย หรือ ดังนั้นรูปร่างของจะเข้แต่เดิมจึงคล้ายกับจระเข้  ซึ่งได้กล่าวไว้ในมหาชาติคำหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตอนหนึ่งว่า “…โคธาปริวเทนฺติกา แจรงทรอทรไนสารนยงยิ่ง จเข้ดิ่งสารสวรรค์…” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพวกรามัญหรือพวกมอญ จึงทำให้สันนิษฐานว่าจะเข้รับมาจากมอญ และการถ่ายเทวัฒนธรรมกันนั้น สิ่งที่ถือว่าเป็นของชาติใด ย่อมมีการแกะสลักหรือวาดภาพไว้ ส่วนจะเข้นั้น มิได้ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังใดเลย ดังนั้นจึงถือว่าจะเข้เป็นของต่างชาตินั้นเอง (อุดม อุดมรัตน์, ๒๕๒๙ หน้า ๑๐๔ -๑๐๖)

          พูนพิศ  อมาตยกุล  ได้กล่าวถึงความเป็นมาของจะเข้ ในหนังสือเรื่อง ดนตรีวิจักษ์  ไว้ดังนี้ (พูนพิศ อมาตยกุล, ๒๕๒๙ หน้า ๓๘)

          “จะเข้ เป็นเครื่องดีดที่วางราบไปตามพื้น เวลาดีดนั่งขวางกับตัวจะเข้ มีสามสาย เสียงไพเราะ และมีเทคนิคการดีดมากมายหลายแบบ ชวนให้เกิดความน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง เดิมใช้เล่นเดี่ยว เพิ่งจะนำมาประสมวงเป็นวงในสมัยรัชกาลที่๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง”

เฉลิมศักดิ์   พิกุลศรี ได้กล่าวถึงจะเข้ ในหนังสือ สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทย ไว้ดังนี้    (เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี, ๒๕๓๐ หน้า ๒๓)

          “…จะเข้เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากกระจับปี่ ซึ่งตามปกติแล้วการเล่นกระจับปี่คล้ายกับการเล่น Guitar โดยต้องเอาตัวของกระจับปี่วางบนตักแล้วดีด ภายหลังคิดว่าได้นำมาวางตามแนวนอนแล้วลองดีดดูจึงพบว่าสะดวกกว่าการดีดตามแนวตั้งมาก จึงได้เกิดจะเข้ขึ้นมาในที่สุด”
          เกียรติศักดิ์  ทองจันทร์  ได้กล่าวถึงจะเข้ ไว้ในเอกสารประกอบการสอน รายวิชา ประวัติการดนตรีไทย เรื่องประวัติวงมโหรี  ซึ่งปรากฏจะเข้ชัดเจนในวงมโหรีเครื่อง ๘ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ไว้ดังนี้ (เกียรติศักดิ์  ทองจันทร์, ๒๕๔๖ หน้า ๑๙ - ๒๐)
          “ …เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตสินทร์ จึงได้นำเอาระนาดแก้ว  และกระจับปี่ออก เนื่องจากกระจับปี่นั้นเวลาบรรเลงต้องตั้งขึ้น  ทำให้ไม่สะดวกกับอีกทั้งเสียงเบา  เมื่อบรรเลงรวมกันแล้วแทบจะไม่ได้ยิน  เพราะถูกเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ๆ กลบเสียงหมด  ดังนั้นกระจับปี่จึงถูกลดบทบาทลงในวงมโหรี  โดยเอาจะเข้เข้ามาประสมแทน ซึ่งจะเข้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม  คือ  มีลักษณะวางราบกับพื้นสามารถบรรเลงได้สะดวกและมีเสียงดังชัดเจน  ทำให้ขนาดของวงขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิม  และเสียงของวงมีความหนักแน่นขึ้น”
          จากความเป็นมาของจะเข้ตามที่ผู้รู้ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถสรุปได้ว่า  จะเข้ เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พัฒนามาจากพิณหรือกระจับปี่  ซึ่งได้รับแบบมาจากของมอญปรากฏหลักฐานในบทมหาชาติคำหลวง ซึ่งเดิมทีรูปร่างจะเข้นั้นคงมีลักษณะคล้ายกับจระเข้ และมีการประสมวงในวงเครื่องสายในหมู่ราษฎร์เพื่อความสนุกบันเทิงเท่านั้นยังไม่เป็นแบบแผน  ในสมัยนั้นจะเข้มีความนิยมแพร่หลายมาก แม้แต่ในเขตพระราชฐานจึงมีกฎหมายห้ามปรากฏหลักฐานในกฎมณเฑียรบาล สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ได้ปรากฏจะเข้ในวงมโหรีขึ้น   ด้วยคุณสมบัติของจะเข้ ที่มีลักษณะวางราบกับพื้นเอื้อต่อการบรรเลงได้อย่างสะดวก   มีเสียงดังชัดเจน  จึงทำให้กระจับปี่ซึ่งเป็นเครื่องดีดในวงมโหรีแต่เดิมนั้นถูกลดบทบาทลง จะเข้จึงได้รับการพัฒนาทั้งในรูปร่างให้มีความสวยงามมากขึ้น ตลอดจนกลวิธีในการบรรเลงต่าง ๆ    ทำให้จะเข้มีบทบาทมากขึ้นในวงเครื่องสาย     และวงมโหรีจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะของจะเข้

ลักษณะของจะเข้

 “จะเข้” เป็นเครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องดีด บรรเลงโดยการวางดีดตามแนวนอน สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทยของราชบัณฑิตยสถานได้กล่าวถึงจะเข้ไว้ว่า “เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีดสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากมอญ ทำเป็นรูปร่างเหมือนจระเข้ทั้งตัว มีสายขึงดีดอยู่ด้านบน”
       ตัวของจะเข้นั้นทำด้วยไม้ท่อนขุดเป็นโพรงอยู่ภายใน นิยมใช้ไม้แกนขนุนเพราะให้เสียงกังวานดี ด้านล่างเป็นพื้นไม้ โดยมากใช้ไม้ฉำฉา เจาะรูไว้เพื่อให้เสียงออกดีขึ้น มีเท้าติดอยู่กับพื้นไม้ด้านล่างตัวทั้งหมด ๕ เท้า อยู่ทางด้านที่เป็นกระพุ้งหรือด้านขวามือของผู้บรรเลง ๔ เท้า และด้านรางไหมหรือด้านซ้ายมือของผู้บรรเลงอีก ๑ เท้า
        จะเข้นั้น มีสาย ๓ สาย คือ สายที่อยู่ชิดทางด้านนอกตัวเรียกว่าสายเอก นิยมทำด้วยเอ็นหรือไหม  สายถัดมาอยู่ตรงกลาง เรียกว่าสายทุ้ม ซึ่งก็ทำด้วยสายเอ็นหรือไหมเช่นเดียวกัน ส่วนสายในสุดด้านติดผู้บรรเลง ทำด้วยลวดทองเหลือง เรียกว่าสายลวด สายทั้ง ๓ สายนั้นขึงจากหลักที่อยู่บนด้านที่เป็นกระพุ้งของตัวจะเข้ พาดผ่านทับบนโต๊ะ (ทำด้วยกล่องทองเหลืองลักษณะกลวง) แล้วขึงไปพาดกับหย่องและสอดผ่านรางไหมลงไปพันกับก้านลูกบิดที่อยู่ทางด้านท้ายของตัวจะเข้ สายแต่ละสายจะพันอยู่กับลูกบิดสายละอัน


โต๊ะทำหน้าที่ขยายเสียงของจะเข้ให้คมชัดขึ้น โดยเมื่อนำชิ้นไม้ไผ่เล็ก ๆ ที่เหลาให้แบน ที่เรียกว่าแหน สอดเข้าไประหว่างสายจะเข้และผิวด้านบนของโต๊ะให้พอดีได้ส่วนกันจะช่วยทำให้เกิดเสียงกังวานอย่างที่เรียกว่า “กินแหน”
        ระหว่างรางด้านบนของจะเข้กับสายจะเข้จะมีชิ้นไม้ทำเป็นสันหนาเรียกว่านม ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๑ นม วางเรียงไปตามแนวยาวเพื่อใช้รองรับการกดจากนิ้วมือขณะที่ทำการบรรเลง นมนี้จะมีขนาดสูงต่ำลดหลั่นกันไป และเมื่อกดในขณะบรรเลง ก็จะทำให้เสียงที่ได้มีเสียงสูง - ต่ำต่างกันไป นมที่ทำให้เกิดเสียงสูงจะอยู่ค่อนไปทางด้านกระพุ้งของจะเข้หรือทางด้านขวามือของผู้บรรเลง
        เวลาดีดจะเข้ จะใช้ไม้ดีดที่ทำด้วยงาหรือเขาสัตว์กลึงเป็นท่อนกลมและมีปลายเรียวแหลมมนปัดสายไปมา (คล้าย pick ที่ใช้ในการดีดกีตาร์) ไม้ดีดนี้จะต้องพัน (หรือเรียกว่าการ “เคียน”) ติดกับนิ้วชี้ในมือขวาให้แน่นขณะที่ทำการบรรเลง ส่วนมือซ้ายใช้สำหรับกดนิ้วลงบนสายจะเข้ถัดจากนมไปข้างซ้ายนิดหน่อยเพื่อเปลี่ยนให้เกิดเสียงสูงต่ำตามที่ต้องการ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กิ๋ง

สวัสดีครับเพื่อนๆทุกคน ก่อนจากกันวันนี้ ผมมีเครื่องดนตรีสากลประเภทเครื่องกระทบ ที่มีรูปทรงสามเหลี่ยมมาแนะนำให้เพื่อนๆรู้จักกันนะครับ นั้นก็...